พระคันธารราฐ ๐๓๘
พระคันธารราฐ
หน้าตักกว้าง : ๒๓ ซม. / สูงรวมฐาน : ๔๒.๕ ซม.เนื้อทองเหลือง
ศิลปะสมัยพุทธศตวรรษที่ 25
พระพุทธรูปคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปอำนวยความอุดมสมบูรณ์ สร้างขึ้นเป็นพระขอฝน สำหรับใช้ในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พรุณศาสตร์) และงานพระราชพิธีพืชมงคล เพื่อความเป็นมงคลในการพระราชพิธี อำนวยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พื้นดินอุดม พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์พระพุทธรูปคันธารราฐ สร้างขึ้นโดยอาศัยเรื่องอันมีมากในพระสุตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เรื่องมัจฉชาดก กล่าวว่า ครั้งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาอยู่ ณ เชตวนารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นเกิดฝนแล้ง พื้นแผ่นดินแคว้นโกศลแห้งผาก จนถึงสระโบกขรณีที่เคยเป็นพุทธบริโภคก็เหือดแห้งจนเห็นตม ปลาทั้งหลายได้ความลำบาก ด้วยฝูงกามาจิกกิน ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จบิณฑบาต เห็นเหตุดังนั้น ก็มีพระทัยกรุณา เมื่อเสด็จกลับมาทำภัตกิจแล้ว ก็ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎก (ผ้าชุบสรง) มาถวาย พระอานนท์ก็ทูลว่าน้ำในสระแห้งเสียหลายวันแล้ว พระองค์ก็คงตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎกอยู่ พระอานนท์จึงได้นำมาถวาย พระองค์ทรงรับผ้ามา ทรงนุ่งด้วยชายผ้าข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งตะหวัดขึ้นห่มคลุมอังสา เสด็จยืนที่บันไดขอบสระโบกขรณี แสดงอาการจะสรงสนาน พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ทันใดนั้นมหาเมฆก็ตั้งขึ้นทางทิศประจิม และฝนก็ตกลงมาเป็นอันมาก ท่วมในที่ซึ่งควรจะขังน้ำทุกแห่ง ด้วยพุทธานุภาพ ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินในคันธารราฐองค์หนึ่ง ได้ทรงฟังเรื่องพระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้ฝนตกใหญ่ ก็ทรงเลื่อมใส ตรัสสั่งให้สร้างพระพุทธปฏิมามีอาการดังจะสรงน้ำเป็นนัยเรียกฝนเช่นนั้น เมื่อปีใดฝนแล้งก็ให้เชิญพระปฏิมานั้นมาตั้งบูชาขอฝน ฝนก็ตกดังประสงค์ ในชั้นหลังมามีพุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปมีอาการเช่นนั้นต่อๆมา จึงเรียกสมญาพระพุทธรูปสรงสนานดังกล่าวว่า “พระพุทธคันธารราฐ” เพราะเหตุที่สร้างขึ้นในเมืองคันธารราฐเป็นต้นแบบแต่เดิมมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างพระพุทธคันธารราฐเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา โดยเหตุที่กล่าวกันว่า เมื่อปีฉลูเบญจศกอันเป็นปีพระราชสมภพ ต้นปีฝนแล้ง ข้าวในนาเสียหายมาก เมื่อทรงประสูติ ในทันใดนั้นฝนตกมาก ตามชาลาในพระบรมมหาราชวังมีน้ำท่วมถึงเข่า เป็นอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์มีหน้าที่ประกอบการพระราชพิธีขอฝนมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยทรงเป็นสิริแห่งการขอฝน จึงโปรดให้ใช้พระคันธารราฐเป็นพระประจำพระชนมพรรษาของพระองค์ โดยหล่อเป็นพระพุทธรูปนั่งขอฝน ตามแบบที่มีมาแต่โบราณต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) โปรดให้สร้างพระพุทธรูปคันธารราฐยืน ตามเนื้อความที่มีมาในเอกนิบาต โดยโปรดให้นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) ช่างชาวอิตาเลียน ปั้นพระพุทธรูปปฏิมายืนปางขอฝน เลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ อันเป็นพุทธศิลป์ที่เจริญขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในดินแดนที่ชาวกรีกเคยครอบครองเป็นใหญ่ มีความงามตามสุนทรียภาพของกรีก – โรมัน พระพักตร์เป็นแบบเทพเจ้ากรีก เกล้าเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ และจีวรเป็นริ้วหนาตาแบบธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือขั้นบันไดขอบสระโบกขรณี ทำขั้นบันได 3 ชั้น มีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษยนาค (นาคแปลง) มีความหมายถึงน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์ พระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน ทำอาการดุจเรียกฝนพระพุทธคันธารราฐ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และขนบประเพณี เนื่องในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงถึงกระแสความนิยมทางศิลปกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากแบบอุดมคติ เป็นแบบสัจนิยม มีความเสมือนจริงตามธรรมชาติ ประกอบด้วยสรรพสิริมงคลสำหรับการพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง อันเอื้ออำนวยความอุดมสมบูรณ์แก่พระราชอาณาจักร และอาณาประชาราษฎร์
ผู้สนันสนุนข้อมูล
นายปราณสุวีร์ อาวอร่ามรัศมิ์
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์
นายภัทรพล ชำนิยา
นักวิชาการศาสนาชำนาญการ