พระพุทธรูปปางมารวิชัยนาคปรก ๐๑๕
พระพุทธรูปปางมารวิชัยนาคปรก
หน้าตักกว้าง : ๒๑ ซม. / สูงรวมฐาน : ๔๘ ซม.เนื้อแก้วและไฟเบอร์กลาส องค์พระเป็นสีเขียว สภาพเศียรนาคหักบริเวณฐาน ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์
นาคปรก เป็นชื่อเรียกพระพุทธรูปลักษณะนั่งสมาธิ และมีพญานาคแผ่หัวเป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียรของพระพุทธรูป แต่เดิมทำเป็นรูปพญานาคเป็นมนุษย์ มีรูปงู 7 หัวเป็นพังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียร (ศีรษะ) ในกิริยาที่พญานาคทำท่านมัสการพระพุทธเจ้า ต่อมาภายหลังทำพญานาคเป็นรูปงูขดตัวเป็นฐานตั้งพระพุทธรูปนั่งสมาธิบนตัวพญานาค และมีพังพานและหัวของพญานาค 7 เศียรปรกอยู่ พระนาคปรกนี้มี 2 แบบ คือ แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิบนขนดพญานาค แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิภายในวงขนดพญานาค คือพญานาคขดตัวล้อมพระกายไว้ถึงพระอังสา เพื่อป้องกันลมฝนตามตำนาน
หลังจากที่พระพุทธโคตมได้ทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้แปรที่ประทับเพื่อเสวยวิมุติสุขยังสถานที่ต่างๆ ในอาณาบริเวณที่ไม่ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์นักโดยประทับแต่ละที่สัปดาห์ละ 7 วัน และในสัปดาห์ที่ 6 ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับ ณ ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ได้บังเกิดมีฝนและลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย ผู้รจนาปฐมสมโพธิได้แต่งเล่าเรื่องไว้ว่า พญานาคชื่อ มุจลินทร์ ได้ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณแห่งเดียวกันนี้ เข้าไปวงขนด 7 รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้า เพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลายขนดออก แล้วจำแลงเป็นเพศมาณพยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์ ลำดับนั้นพระพุทธองค์จึงทรงเปล่งอุทานว่า
ความสงัดคือความสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้วได้รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความสำรวมไม่เบียดเบียนในสัตว์ทั้งหลาย และ ความเป็นผู้ปราศจากกำหนัดหรือสามารถก้าวล่วงพ้นซึ่งกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขอันประเสริฐในโลก ความขาดจากอัสมิมานะหรือการถือตัวตนหากกระทำให้ (การถือตัว) หมดสิ้นไปได้นั้นเป็นความสุขอย่างยิ่ง
ผู้สนันสนุนข้อมูล
นายปราณสุวีร์ อาวอร่ามรัศมิ์
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์
นายภัทรพล ชำนิยา
นักวิชาการศาสนาชำนาญการ