พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางสมาธิ ๐๒๙

พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางสมาธิ

หน้าตักกว้าง : ๙ ซม. / สูงรวมฐาน : ๒๔ ซม.เนื้อผสมโลหะ สมัยอยุธยาตอนกลางจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปรากฏหลักฐานการสร้างในศิลปะอินเดีย พุทธศตวรรษที่ ๑๔–๑๗ ในประเทศไทยนิยมสร้างในช่วงสมัยอยุธยาตอนกลางจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยแรกเริ่มเป็นการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑–๒๒ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ ๒๓ ได้เปลี่ยนจากเครื่องทรงน้อยชิ้นเป็นเครื่องทรงจำนวนมาก หรือที่เรียกกันว่า พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่
คติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องสันนิษฐานว่ามีหลายคติ เช่น พระพุทธเจ้าเคยเป็นเจ้าชายมาก่อน จึงมีศักดิ์ที่สามารถทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราชได้ หรือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเปรียบได้กับพระจักรพรรดิราชาธิราช คือเป็นพระราชาแห่งพระราชาทั้งหลาย นอกจากนี้ยังมีคติเรื่องชมพูบดีสูตร กล่าวคือพระพุทธเจ้าทรงเนรมิตพระองค์ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิเพื่อสั่งสอนพญามหาชมพู รวมทั้งหมายถึงพระศรีอารยเมตไตรย หรือพระอนาคตพุทธเจ้า
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ได้จัดแสดงพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะอยุธยา ซึ่งนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ประดับตกแต่งด้วยเครื่องอาภรณ์ ได้แก่ เทริดหรือกระบังหน้า กรรเจียก กุณฑล กรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ในส่วนของพระพักตร์ยังคงเค้าอิทธิพลศิลปะสุโขทัย แต่ส่วนที่เป็นลักษณะเด่นของศิลปะอยุธยา คือ การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องทรงศิราภรณ์ที่มีกรรเจียกยื่นเป็นครีบออกมาเหนือพระกรรณ กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓
ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้จัดแสดงพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ในลักษณะปางต่าง ๆ เช่น ปางสมาธิ ปางอุ้มบาตร และปางป่าเลไลยก์ สร้างด้วยโลหะผสมลงรักปิดทอง เป็นงานประติมากรรมขนาดเล็ก มีลักษณะรูปแบบคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปประดับตกแต่งด้วยเครื่องอาภรณ์ ประกอบด้วยมงกุฎ กรรเจียกจร กรองศอ สังวาล ทับทรวง ทองพระกร พาหุรัดตกแต่งด้วยกระหนกเหน็บ เป็นต้น กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕
บรรณานุกรม
– กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๗.
– รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. รู้เรื่องพระพุทธรูป. พิมพ์ครั้งที่ ๓. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐.
– ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖.

ผู้สนันสนุนข้อมูล 

นายปราณสุวีร์ อาวอร่ามรัศมิ์
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์
นายภัทรพล ชำนิยา
นักวิชาการศาสนาชำนาญการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *