002-02-2567 ศาสตราลูกหลาน (សត្រាកូនចោវ)

 

ชื่อเรื่อง ศาสตราลูกหลาน (សត្រាកូនចោវ)

  • หมวด : 08 โอวาทคำสอน
  • อักษร/ภาษา : ขอม / ขอมไทย(บางคำในตอนท้าย)พยัญชนะไทย (ก-ฆ) และอักษรละตินตัวพิมพ์เล็ก (a-f) ใต้เลขเขมรที่ใช้จารระบุเลขหน้าใบลาน รวมถึงมีการใช้อักขรวิธีขอม-ไทยบ้างเล็กน้อยในตอนท้าย
  • ลักษณะเอกสาร : ใบลานยาว
  • จาร/บันทึก เมื่อ : พ.ศ. 2475
  • จำนวนผูก/เล่ม ที่พบ : 1 ผูกเล่ม
  • ลักษณะชุด : ไม่ครบชุด (สันนิษฐานว่าใบลานแผ่นสุดท้ายที่ระบุชื่อ อุบาสิกาผู้ว่าจ้างให้จารคัมภีร์เรื่องนี้ได้หายไป ด้วยปรากฏคำว่า “นาง” ทิ้งท้ายเป็นคำสุดท้าย ของใบลานในผูก)
  • สภาพเอกสาร : ดีมาก
  • หมายเหตุ : มีกระดาษสีชมพูปิดทับใบลานแผ่นแรกทางซ้ายมือ พร้อมระบุข้อความภาษาไทย-อักษรไทยว่า ““สัตราโกนเจา” วัดกลางสุรินทร์” ในบรรทัดแรก “สัตรา-คำสั่งสอนลูกหลาน-วัดกลางสุรินทร์” ในบรรทัดต่อมา และลายมือชื่อของปแฎงมหาบุญเรือง คัชมาย์ในบรรทัดสุดท้าย ส่วนทางขวามือมีใบลานขนาดเล็กแผ่นใหม่ติดทับ พร้อมปรากฏลายมือที่ใช้ปากกาน้ำเงินเขียนข้อความเป็นภาษาไทยด้วยอักษรไทยว่า “ข้าพเจ้าเก็บรักษาไว้ ตั้งแต่ปี 2507.” และลงลายมือชื่อของปแฎงมหาบุญเรือง คัชมาย์ในบรรทัดต่อมากำกับไว้
  • ผู้แปล อาจารย์ ดร.ดิเรก หงษ์ทอง

เนื้อหาโดยสังเขปของศาสตราลูกหลาน (សត្រាកូនចោវ) สำนวนวัดกลาง จังหวัดสุรินทร์

            ศาสตราลูกหลานเรื่องนี้จารเป็นภาษาเขมร โดยใช้อักษรขอมหรืออักษรเขมร ชนิดอักษรมูล (ตัวกลม) ใบลานแผ่นแรกของคัมภีร์ จารแนะนำชื่อคัมภีร์ว่า “និះសត្រាកូនចោវ​ សម្រាបវតក្លាង (คำแปล-นี่[คือ]ศาสตราลูกหลาน สำหรับวัดกลาง)” จากนั้น ใบลานแผ่นต่อ ๆ มา จารอักษรเขมรโดยเรียงเนื้อหาจากซ้ายไปขวา แผ่นละ ๔ บรรทัด โดยปรากฏการจารทั้งด้านหน้าและด้านหลังของแผ่นลาน และใช้เลขเขมร ๑-๖ พยัญชนะไทย ก-ฆ รวมถึงอักษรละตินตัวพิมพ์เล็ก a-f  เรียงไว้คนละบรรทัดทางซ้ายมือ เพื่อระบุเลขหน้าของใบลานแต่ละแผ่น     

            เนื้อหาของคัมภีร์เรื่องนี้กล่าวความโดยสรุปได้ว่า ผู้สอนสมมุติตนเองเป็นบิดาผู้แก่ชรากำลังสั่งสอนบุตร ซึ่งในคัมภีร์เรียกว่า “ลูก” โดยขอให้ลูกจดจำคำสอนและธำรงตนตามคำสอนดังกล่าว เพื่อให้เกิดความสุขเกษมศานติ์ คำสอนในคัมภีร์เรื่องนี้อาจจำแนกเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้ ประการแรก สอนให้รู้จักระงับอารมณ์ โดยเฉพาะโทสะ และการบ่นเนื่องจากความไม่พอใจ เพื่อให้มีปัญญาเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ประการต่อมา สอนให้รักษาแบบแผนความประพฤติและมารยาทที่เหมาะสม เพื่อป้องกันคนติฉินนินทาไปถึงบุพการี ประการที่ ๓ สอนให้รู้จักถ่อมตนและมิให้โอ้อวด เพื่อให้คนอื่นรู้สึกเกรงขามและมิกล้าขัดแย้งด้วย ประการที่ ๔ สอนให้มานะพากเพียรเรียนคัมภีร์นี้ เพื่อใช้ปกป้องและเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ประการที่ ๕ สอนให้เรียนหนังสือโดยต้องรู้อย่างถ่องแท้ไม่มีติดขัด เขียนหนังสือให้สวย คนอื่นถึงจะเกรงขาม และไม่กล้าดูแคลน ประการที่ ๖ สอนให้เก็บงำความรู้ที่เรียนไว้กับตนเอง ให้เลือกหยิบมาใช้ยามลำบาก และอย่าให้ใครล่วงรู้ถึงความรู้ที่มี คนอื่นจึงจะเกรงขาม เพราะหากคนอื่นล่วงรู้ถึงความรู้ต่าง ๆ ที่เรามีจนหมดสิ้นแล้ว เขาจะเยาะเย้ยและไม่เกรงกลัวแม้สักน้อย การมีความรู้จะสามารถพาตนเองไปถึงจุดหมายต่าง ๆ ได้ หรือสามารถทำเรื่องยากให้ประสบผลสำเร็จได้ ประการที่ ๗ สอนให้ขยันทำนา รู้จักเปิดปิดน้ำในนา และปั้นคันนา เพื่อให้ได้ผลผลิต ประการที่ ๘ สอนให้เรียนรู้เรื่องการค้าขาย และรู้จักรักษาทรัพย์สินที่มีมิให้สูญหาย ประการที่ ๙ สอนให้รักและซื่อตรงกับพี่น้อง ไม่ควรวิวาทกันเรื่องมรดกที่บุพการีได้แบ่งให้ลูกทุกคนแล้ว ประการที่ ๑๐ สอนมิให้คิดเอาทรัพย์ผู้อื่นมาไว้ที่เรือนตน เพราะจะเกิดความกังวลใจไม่เว้น และหากผิดพลาดไปจะต้องหาของดังกล่าวไปใช้คืน ประการที่ ๑๑ สอนให้ระวังคนในปัจจุบัน ไม่ให้เอาตัวไปข้องเกี่ยวหรือคบค้าคนที่ร้ายกาจฉกฉวยของผู้อื่นโดยไม่เกรงกลัวบาป และไม่ข้องเกี่ยวกับคนที่ขโมย ปล้น และฟันเจ้าทุกข์หน้าตาเฉยโดยไม่เกรงกลัวและไม่สนใจว่าเป็นผู้ใด และประการสุดท้าย สอนให้ทำทานแก่คนยากไร้ หมั่นทำบุญตักบาตร และรักษาศีลห้า เพราะบุญกุศลจะช่วยให้รุ่งเรืองและพาตนเองข้ามไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้    

            หลังจารเนื้อหาข้างต้นเสร็จแล้ว ผู้จารได้ให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการจารดังนี้ (๑) คำอธิษฐานของผู้จารที่เป็นภาษาบาลีซึ่งกล่าวว่า อนาคเต กาเล นิพพานะ ปัจจโยโหตุ เพื่อขอให้บุญกุศลที่ก่อนี้ นำพาตนเองไปถึงพระนิพพานในอนาคต (๒) การระบุชื่อคัมภีร์ซ้ำอีกครั้งว่า “និះសត្រាកូនចោវប្រតោវកូន​ (คำแปล-นี่[คือ]ศาสตราลูกหลานอบรมลูก)” (๓) วันที่จารเสร็จ คือ วันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือนกรรดึก ปีวอก พ.ศ. ๒๔๗๕ (๔) นามบุคคล คือ พระภิกษุยัน ยี่สุ่นสี ซึ่งจำวัดที่วัดกลางเมืองสุรินทร์ หมู่ ๑๐ [อำเภอ]เมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มณฑลนครราชสีมา สันนิษฐานว่าเป็นชื่อผู้จารคัมภีร์เรื่องนี้        

หมายเหตุ ภาษาเขมรที่พิมพ์ในเนื้อหาข้างต้นสะกดตามอักขรวิธีที่ปรากฏในใบลานต้นฉบับ ซึ่งมีวิธีการเขียนที่ต่างไปเล็กน้อยจากอักขรวิธีของภาษาเขมรปัจจุบัน

ดาวโหลด 2. บัตรข้อมูลคัมภีร์ใบลานภาคอีสาน-ศาสตราลูกหลาน พ.ศ. 2475 วัดกลาง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *